..เยี่ยมไข้..
เคยไปเยี่ยมคนป่วยตามโรงพยาบาลกันไหมคะ?
คิดว่าคำตอบส่วนใหญ่ก็คือ “เคย” แน่นอน
การไปเยี่ยมคนป่วยในโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชน มักจะแตกต่างกัน จากประสบการณ์ที่ไปเยี่ยมคนไข้ ตามโรงพยาบาลของรัฐ เห็นได้ชัดว่าแตกต่างกับเอกชน ตรงที่ เวลาเยี่ยมไข้ ของรัฐจะจัดให้เยี่ยมเป็นเวลา คล้ายๆกับการเยี่ยมผู้ป่วยตามหอผู้ป่วยวิกฤติ หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ ไอ ซี ยู นั่นเอง
สำหรับโรงพยาบาลเอกชนนั้น ไม่ค่อยจำกัดเวลาเยี่ยมเท่าไรนัก อันที่จริง ตามกฎระเบียบของโรงพยาบาลก็กำหนดเอาไว้เหมือนกัน แต่เท่าที่เห็น ไม่ค่อยมีใครเคร่งครัดกับระเบียบข้อนี้เท่าไรนัก เคยเห็นญาติคนไข้บางคน ก็เข้ามาเยี่ยมตอนตีสองตีสามก็ยังมี แปลกดีเหมือนกัน ยังสงสัยว่า ไม่หลับไม่นอนกันหรือยังไง
ญาติคนไข้บางคน ถามว่า เวลาเยี่ยมไข้ กี่โมงถึงกี่โมง ดิฉันมักจะตอบไปว่า ตามระเบียบแล้ว เยี่ยมได้ถึง สี่ทุ่ม แต่ไม่ค่อย strict เท่าไรนัก อย่างไรก็ดี อยากให้คนไข้ได้พักผ่อนบ้าง เมื่อนั่นแหละ คนถามเลยถึงบางอ้อ ว่าควรจะมาเยี่ยมเวลาไหน
คนไข้ที่ดิฉันดูแล เป็นคนไข้ทางสูตินรีเวช ซึ่งส่วนใหญ่ มักจะได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ถ้าทางสูติ ก็จะมาคลอดลูก สมัยนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการผ่าตัดคลอดบุตร แล้วแต่คนไข้กับคุณหมอจะตกลงกันว่า ควรจะผ่าตัดหรือไม่ และมีข้อบ่งชี้ไนการผ่าตัดรึเปล่า บางคนไม่มีข้อบ่งชี้ แต่อยากผ่า อยากให้ลูกเกิดมาตามฤกษ์ที่หมอดูให้ไว้ก็มี เฮ้อ!!
ส่วนคนไข้ทางนรีเวช ที่บอกว่า รักษาโดยการผ่าตัด อาจจะมาผ่าตัดเนื้องอกออก ผ่าตัดถุงน้ำ หรือไม่ก็ผ่าตัดมดลูกออกเลยก็มี แหละอื่นๆอีกมากมายขึ้นอยู่กับว่าป่วยด้วยโรคอะไร
สมัยก่อน ถ้าพูดถึงเรื่องผ่าตัด ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวยิ่งนัก จริงๆคนสมัยใหม่ก็ยังกลัวการผ่าตัดอยู่ แต่ดิฉันเห็นเป็นเรื่องธรรมดา อาจเป็นเพราะว่า ต้องดูแลคนไข้ประเภทนี้แทบทุกวัน เลยไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร
คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัด ต้องได้รับยาระงับความรู้สึกอยู่แล้ว อาจจะเป็น การดมยาสลบ หรือการระงับความรู้สึกทางประสาทไขสันหลัง แล้วแต่ความชำนาญของวิสัญญีแพทย์ โรคที่คนไข้เป็น และสภาพร่างกายของคนไข้เอง และปัจจัยเสริมอีกหลายอย่าง ทั้งนี้จะอยู่ในวิจารณญาณของวิสัญญีแพทย์
คนไข้หลังผ่าตัด24ชั่วโมงแรกย่อมต้องการการพักผ่อน ทั้งนี้ มีผลมาจากการได้รับยาระงับความรู้สึกด้วย ซึ่งยาพวกนี้ อาจจะมีผลข้างเคียงสำหรับคนไข้บางราย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือถ้าระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง ยาพวกนี้ มักจะมีผลทำให้คนไข้ ไม่ปวด แต่ผลที่ไม่พึงประสงค์ก็คือ คันตามตัว หรือคลื่นไส้อาเจียน (ในคนไข้บางรายเท่านั้น) แต่อาการเหล่านี้ จะหายไปหลังจาก 24ชั่วโมงแล้ว ดังนั้น ถ้าคนไข้ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ อาการพวกนี้ จะเป็นไม่มากนัก
คนไข้บางรายมีญาติมะรุมมะตุ้ม ถามโน่นถามนี่ ด้วยความเป็นห่วง แต่หารู้ไม่ว่า ความเป็นห่วงที่แสดงออก กลับทำให้คนไข้ได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ อาการเหล่านี้ก็จะกำเริบขึ้นมาอีกได้
อ้อ!! ลืมบอกไปค่ะ ว่า ส่วนใหญ่แล้วคนไข้ที่ผ่าตัดโดยการเปิดหน้าท้อง(ทางนรีเวช) จะต้องงดน้ำ และอาหาร เป็นเวลาประมาณ 24ชั่วโมง
ที่บอกไปทั้งหมด ในการเยี่ยมไข้ ในฐานะที่เป็นพยาบาล ดิฉันขอแนะนำให้ มาเยี่ยม มาพูดคุย หลังผ่าตัด 24ชั่วโมงไปแล้ว น่าจะดีกว่า ตอนนั้นแหละ คนไข้จะพูดคุยได้ ดีขึ้น และ คุณหมอก็อนุญาตให้เริ่มรับประทานอาหารได้ แต่อาหาร ช่วงแรกๆ อาจจะเริ่มด้วย พวกน้ำๆ ก่อนนะคะ อาหารแข็ง เอาไว้วันหลังๆ ดีกว่าค่ะ
แล้วประสบการณ์การเยี่ยมไข้ของคุณผู้อ่าน เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย?
3 Comments:
อืม! ประสบการณ์เยี่ยมไข้ และเฝ้าไข้ก็มีอยู่พอสมควรนะ ได้นั่งรถ ambulance เล่นมาหลายครั้งแล้วอิอิ... แน่นอนอยู่แล้วว่าในโรงพยาบาลเอกชนนั้นการพยาบาลเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเราก็ย่อมจะต้องการ การดูแลและเอาใจใส่ด้วยความยิ้มแย้ม แจ่มใส และการบริการที่เหนือกว่าของทางราชการ แต่โดยส่วนลึกของจิตใจของคนที่ทำงานด้านนี้ได้นั้น คงจะมีพื้นฐานทางจิตใจที่มีความเอื้อ อารีย์ต่อบุคคลอื่นเหมือนกันทั้ง 2 สถาบันนั้นแหละนะ
ไม่แน่ใจว่าเคยไปเยี่ยมไข้ที่ ward คุณด้วยหรือเปล่านะ ไปแบบเศร้าๆ ง่ะ ...เยี่ยมแฟนเก่าผ่าตัดเนื้องอก...:-(
เคยแต่เยี่ยมคนป่วย..อยากเยี่ยมพยาบาลบ้างง่ะ.อิอิ 555!! อ่ะล้อเล่น
คุณ someone คะ..ด้วยหน้าที่และจรรยาบรรณที่มีติดตัวตั้งแต่เข้าสู่วิชาชีพนี้ เราทุกคนถูกปลูกฝัง เรื่องเหล่านี้ค่ะ :)...เมย์เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่ออยากสื่อให้ญญาติคนไข้ได้รู้ และสามารถ ทำหน้าที่ของญาติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมค่ะ :)..สิ่งที่ดีก็คือ คนไข้จะได้หายเจ็บหายไข้ได้เร็ววันด้วยไงคะ จริงมั้ย
ขอบคุณมากครับ สำหรับ บทความดี ๆ ที่ให้ความรู้นี้ คือผมเองกำลังจะไปเยี่ยมเพื่อนที่เพิ่งผ่าตัด แต่นึกไม่ออกว่าจะเอาของกินไปเยี่ยมได้รึป่าว เพราะคุ้น ๆ ว่าหลังผ่าตัดมันมีของที่้ต้องงด
ปล. ขอบคุณอีกทีครับ และ ขอบคุณแทนเพื่อนผมที่จะไ้ด้ของเยี่ยมไข้ที่ถูกต้องด้วย :D
Post a Comment
<< Home