Sunday, April 30, 2006

..ทางม้าลาย..


ดิฉันเป็นคนที่ไม่ชอบเดินข้ามถนน..

ถ้าจำเป็นต้องข้ามถนน ระหว่างข้ามสะพานลอยกับข้ามถนนตรงทางม้าลาย ขอเลือกข้ามตรงสะพานลอยดีกว่า ทนเหนื่อยสักนิดการขึ้นแล้วนับขั้นบันไดบริเวณสะพานลอย (คุณๆ เคยนับกันบ้างรึเปล่าว่า สะพานลอยแต่ละแห่งมีบันไดทั้งหมดกี่ขั้น อิอิ ) ดิฉันว่ามันปลอดภัยกว่าเยอะ กรณีที่เป็นเวลากลางวันนะคะ แต่ถ้าข้ามถนนเวลากลางคืนนี่อีกเรื่อง การระมัดระวังตัวก็ต้องเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ถ้าบริเวณถนนที่เราข้ามไม่มีสะพานลอย เราก็จำเป็นต้องพึ่งพาทางม้าลายแน่นอน ดิฉันเห็นบางคนไม่ชอบข้ามถนนตรงทางม้าลาย นึกอยากจะข้ามตรงไหนก็ข้าม แถวๆอนุสาวรีย์ชัย เห็นหลายต่อหลายครั้งแล้วที่คนไม่ค่อยจะข้ามถนนตรงสะพานลอย จริงๆ ทางม้าลายก็มี แต่ก็ไม่ข้าม เห็นแล้วหวาดเสียวแทน

อาจเป็นเพราะว่า คนที่เคยพึ่งพาทางม้าลาย พอเปรียบเทียบกับการข้ามถนนบริเวณที่ไม่มีทางม้าลาย เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ไม่ค่อยมีความแตกต่างกันเท่าไรนัก รอข้ามตรงทางม้าลาย รถก็ไม่หยุดให้คนข้าม อันตรายพอกัน

สองสามวันก่อน ไปทำธุระแถวสยามสแควร์ หาที่จอดรถแทบแย่ วนแล้ววนอีก แต่ก็ไม่มีที่จอดรถ ไปๆมาๆ ต้องวนออกไปแถวถนนอังรีดูนัง โชคยังดีที่มีที่จอดรถข้างทาง ติดกับเกาะกลางถนน เลยจอดแถวนั้น จะมาที่สยามสแควร์ก็ต้องข้ามถนน สิคะ บริเวณนั้นมีทางม้าลาย แต่ต้องเดินไปอีกประมาณ 10เมตร ดิฉันยอมเดินไปข้ามทางม้าลายค่ะ แต่กว่าจะข้ามได้ ก็แทบแย่

สาเหตุที่ดิฉันเลือกข้ามถนนตรงทางม้าลาย เนื่องมาจากความคิดที่ว่า หากโชคร้าย มีรถวิ่งเข้ามาชนเรา จะตายก็ขอตายอยู่บนทางม้าลายนี่แหละ เพราะถ้าไม่เลือกข้ามถนนตรงทางม้าลาย อยู่ๆ รถวิ่งมาจากไหนก็ไม่ทราบ เหยียบห้ามล้อไม่ทัน ถูกรถชนโครมเข้าให้ เราจะไปเอาผิดกับใครล่ะคะ

เฮ้อ!! นับวันก็ยิ่งแปลกนะคะ บ้านเราในยุคนี้สมัยนี้ คนมีน้ำใจเนี่ยหายากมากขึ้นเรื่อยๆ รถแต่ละคันรีบวิ่งแข่งกันไปให้ถึงจุดหมาย ยิ่งช่องทางด้านขวามือสุด บริเวณที่ดิฉันกำลังจะก้าวเท้าเหยียบไปบนถนนยิ่งแล้ว รถเหมือนวิ่งอยู่บนสนามแข่งรถยังไงยังงั้น แย่นะคะ ถนนเมืองไทย หลายประเทศ ถ้าขับรถไปบริเวณถนนที่คาดทับด้วยทางม้าลาย คนที่ขับรถมักหยุดรถให้คนข้ามก่อนเสมอ

ยอมรับค่ะว่าตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ใจร้อน และขับรถเร็ว แต่เมื่อถึงทางม้าลายแล้ว หากมีคนข้าม ดิฉันก็มักจะหยุดรถให้คนข้ามก่อนเสมอ แปลกใจที่เราทำได้ แต่ทำไมคนอื่นทำกันไม่ได้

อย่างที่บอก น้ำใจในยุคนี้สมัยนี้นับวันยิ่งหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยที่อยู่กันแบบพึ่งพากัน แต่ละคนก็ถ้อยทีถ้อยอาศัย เกิดเรื่องใหญ่ ก็จะกลายเป็นเรื่องเล็ก ไม่เหมือนสมัยนี้ พอเกิดเรื่องบางเรื่อง ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็สามารถทำให้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องขึ้นได้

เดินทางออกจากบ้านแต่ละวันก็ยิ่งพบยิ่งเจอสิ่งที่ทำให้เครียดกันทุกวี่ทุกวัน เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว มันก็เกิดจากความเห็นแก่ตัว ที่นับวันก็มีแต่เพิ่มขึ้น และจะมากขึ้นเรื่อยๆ

เป็นที่ทราบดีว่ายุคนี้ คือยุค Globalization (ดิฉันบังเอิญอ่านเจอจากหนังสือ “รอยเท้าเล็กๆของเราเอง” ที่เขียนโดย คุณวินทร์ เลียววาริณ บอกว่า Globalization แปลอย่างล้อเลียนว่า ก่อบรรลัยใส่ฉัน ดิฉันอ่านแล้วขำค่ะ ) และลัทธิบริโภคนิยม ก็จะแพร่กระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า แต่ทำไงได้คะ กลไกของสังคมเป็นอย่างนี้ไปเสียแล้ว เราเป็นแค่อณูเล็กๆของสังคม คงต้องยินยอมดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมแบบนี้ต่อไป ค่ะ เพียงแต่ อย่าเป็นทาสของมันก็พอ

เอาเป็นว่า.. ปันน้ำใจให้กันสักนิด ดีมั้ยคะ ..

2 Comments:

At 7:41 AM, Anonymous Anonymous said...

สวัสดีจ้า เขียนได้ตรงใจจังเลย
คนไทยเป็นคนที่มีน้ำใจมากอยู่นะ แต่ไม่รู้เป็นไงในเรื่องบนท้องถนนในกรุงเทพเนี่ยมักจะแห้งแล้งน้ำใจเสียเหลือเกิน อาจจะเป็นเพราะว่าความแออัดยัดเยียดกันอย่างหนาแน่นทำให้มีการแก่งแย่งกันมากเนอะ แต่บางทีก็อยากขับชนพวกที่ข้ามถนนใต้สะพานลอยเสียจริงๆ เลย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ไม่ยอมเอาตัวอย่างอย่างคุณเมย์บ้างเลยเนอะ อายุปูนนี้แล้วยังขึ้นสะพานลอยไหวเลย :-)

 
At 2:00 PM, Blogger hospitalgirl said...

5 5 5 คุณsomeone มาแซวอีกแน่ะ...เหนื่อยเหมือนกันนะคะ ขึ้นสะพานลอยโดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อนๆ หงุดหงิดก็หงุดหงิด แต่เนื่องมาจากห่วงเรื่องความปลอดภัยเลยจำเป็นต้องใช้บริการ สะพานลอยค่ะ

 

Post a Comment

<< Home